กรมการค้าต่างประเทศ เพิ่มรายการสินค้าเฝ้าระวังเป็น 65 รายการที่มีความเสี่ยง คุมเข้มการสวมสิทธิสินค้าส่งออกจากไทยไปตลาดสหรัฐ จากเดิมเฝ้าระวัง 49 รายการ
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมทำหน่วยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจากที่สหรัฐประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากไทยเป็นอัตรา 36% ตามประกาศมาตรการภาษีตอบโต้แบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) จากสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย โดยปัจจุบันขยายเวลาการเก็บภาษีออกไป 90 วัน แต่ก็ยังเก็บภาษีที่ 10%
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ศุลกากรสหรัฐ คต.ได้มีการประชุมหารือร่วมกับทางการสหรัฐ โดยจะมีการเพิ่มเติมจำนวนรายการสินค้าเป็น 65 รายการ จำนวน 224 พิกัดภาษีและทางฝ่ายไทย จากก่อนหน้า 49 รายการ เช่น กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ได้ขอให้ทางสหรัฐมีการแจ้งข้อมูลพิกัดภาษีรายการสินค้าให้มีความชัดเจนมากขึ้นแบบ Specific แทนการบอกแบบกว้าง ๆ เพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาสในการส่งออกในภาพรวม ซึ่งในรายการสินค้า ยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นหรือลงได้ โดยจะให้ความสำคัญในกลุ่มสินค้าที่ต้องระวังเป็นพิเศษ
สำหรับผลสรุปรายการสินค้าเฝ้าระวังทั้งหมด จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนจะออกเป็นประกาศกรมการค้าต่างประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ทางกรมได้เพิ่มความเข้มงวดในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไปของไทยมากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้หารือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนที่มีอำนาจในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไปของไทยด้วย
ล่าสุด 3 หน่วยงานได้มีความเห็นร่วมกันที่จะให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานเดียวที่สามารถออกหนังสือรับรอง Form C/O ทั่วไป สำหรับรายการสินค้าเฝ้าระวังในการส่งออกไปสหรัฐ 49 รายการในเบื้องต้น เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ล้อเหล็กสำหรับรถบรรทุก แผ่นหินเทียม และท่อเหล็ก โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกจะต้องยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนขอรับหนังสือรับรอง Form C/O ทั่วไป จากกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐจากประเทศอื่น ๆ
นางอารดากล่าวอีกว่า การเพิ่มรายการสินค้าเฝ้าระวัง ได้มีการติดตามข้อมูลสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย จากมาตรการ AD และมาตรการ 301 อย่างใกล้ชิด และติดตามรายการสินค้าจากมาตรการ 232 เพิ่มเติมด้วย เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจมีสินค้าดังกล่าวมาแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย
ในโอกาสวันเกิดกรมเข้าสู่ปีที่ 84 กรมได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อยกระดับงานบริการออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้า ด้วยการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ผู้รับบริการสามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่าย ๆ ภายใต้ระบบ DFT SMART-I และ DFT SMART C/O
ซึ่งสามารถยื่นคำขอ พิมพ์เอกสาร และชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศูนย์บริการ มุ่งสู่เป้าหมายการให้บริการแบบ No Visit อย่างเต็มรูปแบบ ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ (Citizen Centric) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ
และ MOU ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับกรมสุขภาพจิต ภายใต้โครงการ “สุขภาพใจ เรื่องใกล้ตัวที่ควรตระหนัก” เพื่อดูแลส่งเสริมสุขภาพทางกายและใจของบุคลากร กรมพุ่งเป้าเสริมสร้างความแข็งแรงด้านร่างกาย ส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาวะทางจิตใจ Happy Workplace
“กรมการค้าต่างประเทศพร้อมก้าวสู่ปีที่ 84 เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของไทยในทุกมิติ มุ่งเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการไทย รองรับความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเร่งสร้างขีดความสามารถและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างแต้มต่อและความได้เปรียบทางการค้าให้เพิ่มมากขึ้น และเดินหน้าผลักดันการค้าไทยให้เติบโตและก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป”